วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาตอนต้น

สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1893 – 1991 )
        สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ได้ทรงวางระบอบการปกครองส่วนกลางเป็นแบบ จตุสดมภ์ ตามแบบ ขอม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อำนวยการปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง (เวียง) ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทั้ง 4 คือ

  1. เมือง (เวียง) รับผิดชอบด้านรักษาความสงบและปราบปรามโจรผู้ร้าย
  2. วัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก การยุติธรรม และตัดสินคดีความต่างๆ
  3. คลัง ได้แก่ งานด้านคลังมหาสมบัติ การค้า และภาษีต่างๆ
  4. นา รับผิดชอบเกี่ยวกับการเกษตร

        สำหรับการจัดระเบียบการปกครองนั้นได้นำรูปแบบในสมัยสุโขทัยมาใช้ โดยให้ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเป็นศูนย์กลางการปกครอง เมืองอื่นๆ แบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. หัวเมืองชั้นใน ประกอบด้วยเมืองหน้าด่านชั้นในสำหรับป้องกันในราชธานี 4 ทิศ คือ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี รวมทั้งหัวเมืองชั้นในเรียงรายตามระยะทางคมนาคม สามารถติต่อกับราชธานีได้ภายใน 2 วัน เช่น นครพนม สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ราชบุรี เป็นต้น
  2. หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร ได้แก่ เมืองซึ่งอยู่นอกเขตหัวเมืองชั้นในออกไปตามทิศต่างๆ ได้แก่ โคราช จันทบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ถลาง ตะนาวศรี ทวาย และเชียงกราน เมืองเหล่านี้บางเมืองในสมัยสุโขทัย จัดว่าเป็นเมืองประเทศราชแต่ในสมัยอยุธยาได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นหัวเมืองชั้นนอก
  3. เมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองมะละกา ยะโฮร์ ทางแหลมมลายู และกัมพูชาด้านตะวันออกในสมัยอยุธยานี้ นอกจากจะจัดการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้ว ยังมีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ในหัวเมืองชั้นในอีก โดยแบ่งออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออเกเป็นตำบล และตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน โดยมีผู้ปกครองตามระดับ ดังนี้ หมื่นแขวง กำนันซึ่งมักได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพัน และผู้ใหญ่บ้าน

        ประชาชนในสมัยอยุธยาตอนต้นมีฐานะเป็นไพร่ ทำหน้าที่ทั้งทางราชการ และหน้าที่ทางพลเรือน พร้อมกันไปเพราะว่าการปกครองในสมัยนั้นยังไม่มีทฤษฎีการแบ่งงาน ประชาชนเป็นไพร่ได้รับที่ดินตามที่ตนและครอบครัวจะทำการเพาะปลูกได้ เมื่อมีผลผลิตเกิดขึ้นพวกไพร่จะต้องมอบส่วนหนึ่งให้กับขุนวัง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลที่ดินนั้น ไพร่จะต้องสละเวลาส่วนหนึ่งไปรับใช้ ผู้ที่ยอมให้ตนอยู่ในที่ดินของเขา ขุนนางจะเป็นผู้ควบคุมไพร่โดยตรง และมีหน้าที่ระดมกำลังยามศึกสงคราม หรือเกณฑ์แรงงานไปช่วยทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนหรือไพร่ทุกคนจะต้องรับใช้พระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นทหารทุกคน

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย

สมัยสุโขทัย
  

       ในหนังสือปาฐกถาของสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ได้อธิบายไว้ว่า วิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือน หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้าน อยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่าลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง ถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศอยู่ในความปกครองของพ่อขุน

แม้ว่าระบอบการปกครองของสุโขทัยจะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะอำนาจสูงสุดเด็ดขาดไม่ว่าจะในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมอยู่ที่พ่อขุนเพียงพระองค์เดียว และพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ด้วยการจำลองลักษณะครองครัวมาใช้ในการปกครองทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อขุนเกือบทุกพระองค์เป็นไปในลักษณะทางให้ความเมตตาแลเสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร

พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงปกครองประชาชนในลักษณะ บิดาปกครองบุตร คือ ถือพระองค์เป็นพ่อของราษฎร มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยแบะส่งเสริมความสุขให้ราษฎร ราษฎรในฐานะบุตรก็มีหน้าให้ความเคารพเชื่อฟังพ่อขุน ปรากฏว่าพ่อขุนกับประชาชนในลักษณะการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรมีความใก้ลชิดกันพอสมควร จะเห็นได้จากการที่ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุนโดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่งพระองค์ก็จะทรงชำระความให้ ส่วนการจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีหรือเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครอง อำนาจการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่เมืองหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการของรัฐบาล และที่ประทับของพระมหากษัตริย์ การปกครองหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ
  1. หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองหน้าด่าน หรือเมืองลูกหลวง จัดเป็นเมืองในวงเขตราชธานีล้อมรอบราชธานีทั้ง 4 ด้าน มีศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) สองแคว (พิษณุโลก) สระหลวง (พิจิตร) และกำแพงเพชร การปกครองหัวเมืองชั้นในขึ้นกับสุโขทัยโดยตรง
  2. หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองท้าวพระยามหานครที่มีผู้ปกครองดูแลโดยตรง แต่ขึ้นอยู่กับสุโขทัยในรูปลักษณะการสวามิภักดิ์ ในฐานะเป็นเมืองขึ้น หัวเมืองชั้นนอกมี แพรก (สรรคบุรี) อู่ทอง (สุพรรณบุรี) ราชบุรี ตะนาวศรี แพร่ หล่มสัก เพชรบูรณ์ และศรีเทพ
  3. เมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองที่เป็นชาวต่างภาษา มีกษัตริย์ปกครองแต่ขึ้นกับสุโขทัย ในฐานะประเทศราช มีนครศรีธรรมราช ยะโฮร์ ทวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน เซ่า เวียงจันทน์ และเวียงกา

ลักษณะเด่นของการปกครองสมัยสุโขทัยเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีลักษณะปกครองแบบบิดาปกครองบุตร มีพระมหากษัตริย์ (พ่อขุน) เป็นประมุข โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในชาติ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน แต่มีหน้าที่ต่างกันเท่านั้น

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 1826 ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น โดยใช้อักษรมอญและอักษรขอมเป็นตัวอย่าง รวมทั้งอักษรไทยเก่าแก่บางอย่างขึ้น ทำให้ชาติไทยมีอักษรไทยใช้เป็นวัฒนธรรมของเราเองจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงทำให้ทราบว่าไทยเรามีระบบกฎหมายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทั้งกฎหมายมรดก กฎหมายภาษี กฎหมายค้าขาย กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน เป็นต้น

สมัยสุโขทัยนอกจากจะมีสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ก็ได้มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มอญ มลายู ลังกา ตลอดจนอินเดีย เริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และมาตั้งประกอบกิจการต่างๆ เช่น พวกจีนเข้ามาตั้งทำเครื่องสังคโลก เป็นต้น มีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี จกอบ หรือศุลกากรเพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทำการค้า

นอกจากนี้พ่อขุนรามคำแหงทรงศรัทธาในหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุในพระศาสนานิกายหินยานที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศลังกา พระองค์จึงทรงอัญเชิญพระภิกษุสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์มาประจำที่กรุงสุโขทัยทำหน้าที่เผยแพร่พระศาสนาลัทธิใหม่ ในระยะเวลาอันสั้นพระพุทธศาสนาลิทธิลังกาวงศ์ก็มีความเจริญในสุโขทัย ประชาชนพากันยอมรับนับถือและวิวัฒนาการมาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในที่สุด

การนำพระศาสนาเข้ามา และพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทำตัวอย่างให้ประชาชนเห็นถึงความเคารพของพระองค์ที่มีต่อพระภิกษุและหลักธรรม ทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อให้เกิดศีลธรรมจรรยา และระเบียบวินัยแก่ประชาชน ทำให้มีความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพราะทั้งพ่อขุนและประชาชนมีหลักยึดและปฏิบัติในทางธรรม พระมหาธรรมราชาลิไทย พ่อขุนของสมัยสุโขทันในสมัยต่อๆ มา ได้ทรงนิพนธ์หนังสือไทยเรื่องเกี่ยวกับศาสนาชื่อ ไตรภูมิพระร่วง และในหนังสือเรื่องนี้เองได้แถลงถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นหลักของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่นั้นมา

ผู้ติดตาม